การทดลองทางวิทยาศาสตร์นำมาซึ่งทฤษฎี ผลงาน และสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติและเป็นส่วนหนึ่งที่เราได้ใช้ในชีวิตประจำวัน บทความนี้จึงได้รวบรวม ประวัตินักวิทยาศาสตร์ คนสำคัญ ที่ได้ประดิษฐ์คิดค้นผลงานทางวิทยาศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลังมาจนถึงปัจจุบันกัน
ไอแซก นิวตัน (ค.ศ. 1642 – 1727)
นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และนักดาราศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่าเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ที่มีอิทธิพลมากที่สุดตลอดกาลและมีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติทางวิทยาศาสตร์ โดยผลงานที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ การคิดค้นกฎการเคลื่อนที่ของนิวตัน คิดค้นกฎแรงถึงดูดสากล วิชา Calculus และทฤษฎีสี
อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (ค.ศ. 1879 – 1955)
นักฟิสิกส์ทฤษฎีชาวเยอรมันเชื้อสายยิวถือสัญชาติสวิสและอเมริกัน เป็นผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพหนึ่งในสองเสาหลักของฟิสิกส์สมัยใหม่ร่วมกับกลศาสตร์ควอนตัม โดยผลงานที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ สูตร E = mc2 ทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ ทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป ทฤษฎีควอนตัมเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ของอะตอมในของแข็ง เป็นต้น
กาลิเลโอ กาลิเลอี (ค.ศ. 1564 – 1642)
นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ และนักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีผู้มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการปฏิวัติวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ เป็นคนแรกที่นำคณิตศาสตร์และการทดลองมาใช้เป็นเครื่องมือในการพิสูจน์กฎเกณฑ์ทางธรรมชาติอย่างเป็นระบบอันเป็นรากฐานของกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน โดยผลงานที่เป็นที่รู้จัก ได้แก่ กฎเพนดูลัม การค้นพบดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของสุริยะจักรวาลและโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์
นิโคลา เทสลา (ค.ศ. 1856 – 1943)
นักประดิษฐ์ นักฟิสิกส์ และวิศวกรไฟฟ้าชาวเซอร์เบียน-อเมริกัน เป็นผู้สร้างนวัตกรรมล้ำยุคที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่ง สิทธิบัตรของเทสลาและผลงานเชิงทฤษฎีของเขากลายเป็นพื้นฐานของระบบไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้งานทั่วโลกในปัจจุบันได้แก่ ระบบจ่ายกำลังหลายเฟส และมอเตอร์ไฟฟ้ากระแสสลับ เป็นผู้ประดิษฐ์และค้นพบเทคโนโลยีใหม่มากมาย เช่น ขดลวดเทสลา (Tesla coil) เครื่องวัดความเร็วติดรถยนต์ เครื่องกระจายเสียงผ่านวิทยุ วิธีการเปลี่ยนสนามแม่เหล็กเป็นสนามไฟฟ้าซึ่งเป็นที่มาของหน่วยวัดสนามแม่เหล็กเทสลาซึ่งวิศวกรรุ่นหลังตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่เขา และคิดค้นการส่งผ่านพลังงานแบบไร้สายหรือเทคโนโลยี wireless อีกด้วย
มารี คูรี (ค.ศ. 1867 – 1934)
นักฟิสิกส์และนักเคมีชาวโปแลนด์ ผู้ค้นพบธาตุเรเดียมที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รางวัลโนเบล เป็นคนแรกและผู้หญิงเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบล 2 ครั้ง และเป็นเพียงคนเดียวที่ได้รางวัลโนเบลด้านวิทยาศาสตร์ 2 สาขา มารี คูรีเป็นหนึ่งในผู้หญิงที่เก่งที่สุดและได้รับการยกย่องมากที่สุดในโลก ผลงานที่เป็นที่รู้จัก คือ การค้นพบธาตุเรเดียม
โทมัส เอดิสัน (ค.ศ. 1847 – 1931)
นักประดิษฐ์คนสำคัญของโลกชาวอเมริกา ผลงานของเขาหลายชิ้นได้เปลี่ยนวิถีชีวิตของผู้คนให้เป็นสังคมสมัยใหม่ เอดิสันเป็นตัวอย่างของคนที่ประสบความสำเร็จด้วยความอุตสาหะขยันหมั่นเพียร เอดิสันสามารถนำเงินที่ได้จากการขายสิทธิบัตรผลงานที่เขาประดิษฐ์ได้ชิ้นแรกมาสร้างโรงงานที่มีห้องปฏิบัติการวิจัยในตัวซึ่งกลายเป็นต้นแบบของโรงงานอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วยวัยเพียง 23 ปี ผลงานที่เป็นที่รู้จัก คือ คิดค้นหลอดไฟฟ้า เครื่องบันทึกเสียง เครื่องถ่ายภาพเคลื่อนไหว และแบตเตอรี่
หลุยส์ ปาสเตอร์ (ค.ศ. 1822 – 1895)
นักเคมีและนักจุลชีววิทยาชาวฝรั่งเศส เป็นผู้ค้นพบวิธีการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ด้วยวิธีพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurization) การค้นพบนี้ทำให้สาขาวิชาจุลชีววิทยาโดดเด่นก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมไปถึงคิดค้นวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
ชาลส์ ดาร์วิน (คศ. 1809 – 1882)
นักธรรมชาติวิทยา นักธรณีวิทยา และนักชีววิทยาชาวอังกฤษ คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สัตว์ทั้งหลายจะปรับสภาพร่างกายเพื่อให้เข้ากับการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อม ทำให้มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นวิวัฒนาการและหลักการพื้นฐานของกลไกการคัดเลือกโดยธรรมชาติ (Theory of natural selection) ดาร์วินอธิบายวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่ถูกกำหนดโดยธรรมชาติ ซึ่งเป็นแนวคิดที่จุดชนวนให้เกิดการโต้เถียงขึ้นในสังคมอย่างกว้างขวางจนถึงปัจจุบัน
อาร์คิมิดีส (287- 212 ก่อนคริสต์ศักราช)
นักคณิตศาสตร์ นักดาราศาสตร์ นักปรัชญา นักฟิสิกส์ และวิศวกรชาวกรีก ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบรรดานักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดและเป็นนักคณิตศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในยุคโบราณ ผู้คิดค้นนวัตกรรมเครื่องจักรกลหลายชิ้น รวมทั้งอุปกรณ์เครื่องผ่อนแรงต่างๆ เช่น ปั๊มเกลียว คานดีดคานงัด ลูกรอกสำหรับยกของหนักซึ่งยังใช้งานอยู่จนถึงปัจจุบัน ด้านคณิตศาสตร์เป็นผู้คิดวิธีหาพื้นที่และปริมาตรของรูปทรงเรขาคณิตต่าง ๆ และค่า π (pi) มีค่ามากกว่า 223/71 แต่น้อยกว่า 22/7 ตัวเลขหลังนี้ถูกนำมาใช้เป็นค่าประมาณของ π มาตลอดจนถึงปัจจุบัน
กูกลิเอลโม มาร์โคนี (ค.ศ.1874-1937)
นักวิทยาศาสตร์ชาวอิตาลีเป็นผู้ผลิตวิทยุคนแรกของโลกอย่างเป็นทางการ และทำให้เขากลายเป็นเศรษฐีจากการเปิดบริษัทวิทยุโทรเลขมาร์โคนี
อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง (ค.ศ.1811-1955)
นักจุลชีววิทยาชาวอังกฤษ ค้นพบยาปฏิชีวนะ ชื่อ ” เพนนิซิลลิน” เป็นคนแรก ทำให้มีการสกัดสารปฏิชีวนะจากเชื้อราเพนิซิลเลียมใช้เป็นยารักษาโรคหลายชนิดที่เกิดจากแบคทีเรียได้มากกว่า 80 ชนิด เช่น แอนแทรกซ์ คอตีบ ปอดอักเสบ บาดทะยัก และซิฟิลิส เป็นต้น
อริสโตเติล (384 – 322 ก่อนคริสต์ศักราช)
เป็นนักปรัชญาคนสำคัญในยุคกรีกโบราณ เชี่ยวชาญทั้งฟิสิกส์ อภิปรัชญา จริยธรรม ชีววิทยา และสัตววิทยา เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับชีวิตสัตว์และจัดแบ่งประเภทสัตว์อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะแนวคิดทางปรัชญาที่ได้รับการยอมรับจากผู้คนจำนวนมาก ผลงานที่ป็นที่รู้จัก คือ ทฤษฎีทางด้านชีววิทยาและการจำแนกสัตว์ออกเป็น 2 พวกใหญ่คือพวกมีกระดูกสันหลัง (Vertebrates) และพวกไม่มีกระดูกสันหลัง (Invertebrates)
หวังว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านรู้จักกับประวัตินักวิทยาศาสตร์แต่ละท่านที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับมวลมนุษยชาติ ช่วยให้คนรุ่นหลังได้นำเอาทั้งแนวคิด ทฤษฎี รวมไปถึงผลงานทางวิทยาศาสตร์ของแต่ละท่าน มาพัฒนาเป็นเครื่องใช้ไม้สอย เวชภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของเราทุกคนสะดวกสบายมาจนถึงปัจจุบัน