เมื่อต้นปีที่ผ่านมา รัฐได้ประกาศลดค่าโอนบ้าน 2566 และค่าจดจำนอง เพื่อกระตุ้นให้มีการซื้อขายสังหาริมทรัพย์มากขึ้นและสนับสนุนให้ประชาชน มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ซึ่งถือเป็นข่าวดีสำหรับคนที่กำลังซื้อบ้านในปีนี้เป็นอย่างมาก โดยในบทความนี้เราจะมาอัปเดตเงื่อนไข ค่าใช้จ่าย ค่าโอนบ้าน 2566 ล่าสุดกันค่ะ
อัปเดตค่าโอนบ้าน 2566
เมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ครม. มี มติลดค่าธรรมเนียมค่าโอนบ้าน 2566 จาก 2% เป็น 1% เพื่อลดภาระและกระตุ้นให้มีการซื้อ-ขายบ้านและสนับสนุนให้ประชาชนมีบ้านเป็นของตัวเอง ทั้งนี้มาตรการความช่วยเหลือนี้ยังมีเงื่อนไขต่างๆ ดังนี้
- ลดค่าโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยและลดค่าจดจำนองสำหรับบ้าน ทาวน์โฮม และคอนโด ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
- ลดค่าจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 2 เหลือร้อยละ 1
- ลดค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์จากร้อยละ 1 เหลือร้อยละ 0.01
- ระยะเวลาของมาตรการ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2566
ค่าใช้จ่ายการซื้อขายบ้านที่ควรรู้
ค่าธรรมเนียมโอน
คิดเป็น 2% ของราคาประเมินที่ดินรวมสิ่งปลูกสร้าง หรือราคาขาย โดยทั่วไปเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกัน และแบ่งจ่ายกันคนละ 1% ระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายหรือตามที่ตกลงกัน โดยในปี 2566 มีการปรับลดค่าธรรมเนียมเป็น 1%
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ
ค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ขาย คิดเป็น 3.3% ของราคาซื้อขาย ทั้งนี้ผู้ขายต้องครอบครองบ้านเป็นระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี แต่หากครอบครองมากกว่า 5 ปีขึ้นไป หรือมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเกิน 1 ปี ก็จะไม่ต้องจ่ายค่าภาษีธุรกิจเฉพาะ แต่ผู้ขายต้องจ่ายค่าอากรแสตมป์แทน
ค่าอากรแสตมป์
ค่าอากรแสตมป์ เป็นค่าใช้จ่ายของผู้ขาย คิดเป็น 0.5% ของราคาขาย แต่ต้องไม่ต่ำกว่าราคาประเมินที่ดิน หากต่ำกว่าให้ใช้ราคาประเมินที่ดินมาคำนวณ แต่หากต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ จะไม่เสียค่าอากรแสตมป์
ค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
หากผู้ขายเป็นบุคคลธรรมดา ต้องชำระค่าภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพราะถือเป็นผู้มีรายได้จากการซื้อขาย โดยคิดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแบบอัตราก้าวหน้าหรือแบบขั้นบันได และหักค่าใช้จ่ายตามจำนวนปีที่ถือครอง ไม่ว่าบ้านหรือที่ดินนั้นจะได้มาจากการรับมรดกหรือการซื้อขาย
ค่าจดจำนอง
คิดเป็น 1% ของยอดเงินกู้ทั้งหมด และเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ซื้อบ้านโดยการกู้ ซึ่งหากซื้อเงินสด ก็ไม่ต้องเสียค่าจดจำนอง และในปี 2566 นี้ ได้ปรับลดลงเหลือเพียง 0.01% ตามเงื่อนไข
เอกสารที่ใช้ในการโอนบ้าน-ที่ดิน (บุคคลธรรมดา)
1. โฉนดที่ดินฉบับจริง
2. บัตรประชาชน พร้อมสำเนาที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
3. ทะเบียนบ้าน พร้อมสำเนาที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง 1 ชุด
4. หากเคยเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ให้มีหนังสือเปลี่ยนชื่อหรือนามสกุล พร้อมสำเนาที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้อง
5. กรณีที่ต้องการมอบอำนาจให้บุคคลอื่นดำเนินการแทน
- หนังสือมอบอำนาจ (ทด.21)
- สำเนาบัตรประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้รับมอบอำนาจ
6. กรณีสมรส
- หนังสือให้ความยินยอมให้ขายที่ดินหรือที่ดินพร้อมบ้าน
- สำเนาบัตรประชาชนคู่สมรส
- สำเนาทะเบียนบ้านคู่สมรส
- สำเนาทะเบียนสมรส
7. กรณีหย่า
- สำเนาทะเบียนหย่า
ขั้นตอนการโอนบ้าน มีอะไรบ้าง?
หากคุณตัดสินใจซื้อบ้านหรือคอนโด จะต้องทำการโอนกรรมสิทธิ์บ้าน ณ กรมที่ดิน โดยมีขั้นตอนการโอนบ้าน คอนโด ดังนี้
- แจ้งความประสงค์ต้องการโอนบ้าน โอนคอนโด กับเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน
- รับบัตรคิว
- ตรวจสอบเอกสาร กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายชำนาญการ
- เจ้าหน้าที่ประเมินทุนทรัพย์ คำนวณค่าธรรมเนียมการโอน
- ชำระค่าธรรมเนียมการโอนบ้าน โอนคอนโด
- เจ้าหน้าที่พิมพ์สลักหลังโฉนด
- ผู้โอนตรวจสอบความถูกต้อง พร้อมให้โฉนดและสัญญาซื้อขาย (ทด.13) แก่ผู้ซื้อ
- หากผู้ซื้อกู้เงินซื้อบ้านกับธนาคาร โฉนดจะเก็บอยู่กับธนาคารจนกว่าผู้ซื้อจะผ่อนหมด
ถือเป็นข่าวดีสำหรับคนที่กำลังซื้อบ้านในปีนี้ เพราะทั้งค่าจดจำนอง และค่าโอนบ้าน 2566 ปรับลดลง เพื่อให้ผู้ซื้อบ้านได้ลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อบ้าน และทำให้คนไทยสามารถมีบ้านได้ง่ายมากยิ่งขึ้นนั่นเองค่ะสำหรับใครที่กำลังสนใจจะซื้อบ้าน สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจได้ค่ะ