การเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ปฐมวัย เป็นการทำให้เด็กเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งรอบตัว เช่น เรียนรู้สี รูปร่าง โดยรู้มีการเรียนรู้ทีละอย่างค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การสังเกต การค้นคว้าหาคำตอบ การให้เหตุผล ตามด้วยการเรียนทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติต่อไป ทั้งนี้การสอนวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กมีลักษณะอย่างไร บทความนี้มีคำแนะนำมาฝาก
วิทยาศาสตร์ปฐมวัย คืออะไร
วิทยาศาสตร์ปฐมวัย เป็นการเรียนรู้สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติรอบตัวเด็ก เน้นให้เด็กมีความสนุกกับการเรียน รู้จักสร้างสรรค์และคิดสร้างสรรค์ โดยเน้นการสังเกตโลกรอบตัว การรับรู้ทางประสาทสัมผัสและการเรียนรู้ รู้ทรงและสิ่งที่เกี่ยวข้อง และการจัดหมู่และการจำแนกประเภท ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวจะฝึกให้เด็กสามารถใช้ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ ทักษะการสังเกต การจำแนกประเภท การสื่อความหมายและทักษะการกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อหาคำตอบนั่นเอง
กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีอะไรบ้าง
การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัยนั้น เป็นการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างมีเหตุและผล หรือเรียกว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์ โดยเริ่มจากขั้นตอนดังนี้
- ขั้นที่ 1 กำหนดขอบเขตของปัญหา ครูกับเด็กร่วมกันตั้งประเด็นปัญหาสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ร่วมกัน
- ขั้นที่ 2 ตั้งสมมุติฐาน วางแผนร่วมกันเพื่อทดลองหาคำตอบจากการคาดเดาล่วงหน้าว่า ถ้า…….จะเกิด……เป็นต้น
- ขั้นที่ 3 ทดลองและเก็บข้อมูล ครูกับเด็กร่วมกันทดลองตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้ในข้อ 2
- ขั้นที่ 4 วิเคราะห์ข้อมูล ครูและเด็กนำผลการทดลองมาสนทนา อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน
- ขั้นที่ 5 สรุปผลคำตอบสมมุติฐาน ว่าผลที่เกิดคืออะไร เพราะอะไร
โดยกระบวนการวิทยาศาสตร์นี้ต้องอาศัยทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ โดยจำแนกออกเป็นข้อได้ดังนี้
5 ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์
เด็ก ๆ จะได้รับการฝึกทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ไปในตัว โดยทักษะที่ต้องใช้นั้น ประกอบไปด้วย การสังเกต การจำแนกและเปรียบเทียบ การวัด การสื่อสาร การทดลอง การสรุปและการนำไปใช้ อธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมได้ดังนี้
การสังเกต
ครูต้องสอนให้เด็กรู้จักสังเกตใช้เทคนิคการสังเกตเป็น ทั้งตาดู หูฟัง จมูกดมกลิ่น ลิ้นชิมรส กายสัมผัสหรือรับความรู้สึก หรือใช้ทุกอย่างร่วมกัน ภายใต้ความระมัดระวังและความปลอดภัย
การจำแนกเปรียบเทียบ
การจำแนกเป็นทักษะพื้นฐานที่ใช้ในการจัดระเบียบข้อมูล เด็กต้องสามารถเปรียบเทียบและบอกข้อแตกต่างของคุณสมบัติหยาบของสิ่งของได้ ถ้าเด็กเล็กมาก จะมีการจำแนกสีหรือจำแนกรูปร่างได้
การวัด
การวัดเป็นกระบวนการรวบรวมข้อมูลและตัดสิน เพื่อบอกขนาด ปริมาณของสิ่งที่เห็นคือสิ่งใด เป็นการเปรียบเทียบเชิงปริมาณ โดยสามารถใช้เครื่องมือวัดอย่างหยาบ และบอกปริมาณมากน้อยได้
การสื่อสาร
ถือเป็นทักษะการสื่อสารจำเป็นมาก เพราะการสื่อสารจะทำให้ครูรู้ว่าเด็กสามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ได้หรือไม่ มีความเข้าใจมากน้อยแค่ไหน โดยมีการแลกเปลี่ยนความรู้ร่วมกัน
การทดลอง
การทดลองทางวิทยาศาสตร์จะถูกจัดระเบียบและควบคุมให้เด็กทำอย่างมีระเบียบวิธี มีการสังเกตอย่างมีความหมาย เช่น การทดลองการกระจายของหยดสีในน้ำที่มีความเข้มข้นไม่เท่ากัน เด็กจะสังเกตเห็นสีสด สีจาง ต่างกัน
การสรุปและการนำไปใช้
เด็กจะสามารถบอกว่าอะไรเกิดขึ้น เกิดจากสาเหตุใด และมีผลการทดลองอย่างไร ตามสายตาที่เด็กเห็น และฝึกทักษะอย่างเป็นกระบวนการ จะทำให้เด็กสามารถบอกได้ว่าจะนำผลการทดลองนี้ไปใช้เพื่ออะไร และสามารถนำไปแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างไรด้วย
ประโยชน์ของการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ปฐมวัย
เด็กควรได้รับการพัฒนาปัญญา จากการใช้ทักษะทางวิทยาศาสตร์ทั้ง 5 รวมไปถึงกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ สามารถแก้ปัญหาได้ และสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ ช่วยพัฒนาศักยภาพทางปัญญา การขยายความรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อพัฒนาการเข้าใจในการเรียนรู้ที่สูงมากขึ้น รวมไปถึงทำให้เด็กสามารถฝึกทักษะทางการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ทั้ง การสังเกต การคิด แก้ไขปัญหา และสามารถสรุปความรู้ เพื่อนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหา หรือหาคำตอบต่อไป
วิทยาศาสตร์ปฐมวัย ช่วยให้เด็กได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์ธรรมชาติและสิ่งรอบตัวได้อย่างเชื่อมโยงกันและมีระบบระเบียบมากขึ้น และเด็กยังสามารถใช้ทักษะพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และทักษะกระบวนการวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลเพื่อหาคำตอบได้ด้วยตัวเอง และเป็นการพัฒนาศักยภาพทางปัญญาและพุทธิปัญญาได้ดีอีกด้วย