เผลอกินนมหมดอายุ อันตรายมั้ย? นมแต่ละชนิดมีอายุนานเท่าไหร่

กินนมหมดอายุ

นมแต่ละชนิดผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้น้ำนมสดสามารถเก็บไว้กินได้นานขึ้น แต่เมื่อไหร่ที่เราเผลอกินนมหมดอายุเข้าไป จะอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ แล้วนมหมดอายุไปแล้ว ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้หรือไม่ เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ

กินนมหมดอายุ อันตรายจริงมั้ย?

นม เป็นแหล่งวิตามินและสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของทุกเพศทุกวัย ในน้ำนมสดที่รีดออกมาจากแม่วัวนั้น นอกจากจะมีสารอาหารที่ครบถ้วนแล้ว แต่ก็ยังมีจุลินทรีย์ที่ทำให้นมเสียเร็ว และอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย จึงจำเป็นต้องนำน้ำนมสดผ่านกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเก็บรักษานมสดได้นานตามที่ระบุไว้บนฉลาก ซึ่งนมแต่ละชนิดมีอายุและการเก็บรักษาที่ต่างกัน แต่หากใครเผลอกินนมหมดอายุ หรือกินนมหลังจากวันที่ระบุไว้บนฉลาก จะมีความเสี่ยงที่นมบูด ไม่ปลอดภัย เนื่องจากเมื่อนมหมดอายุ แบคทีเรียจะเพิ่มมากขึ้นมันจะทำให้น้ำตาล เปลี่ยนเป็นกรดแลคติก จึงทำให้นมมีความเป็นกรด เมื่อนมมีความเป็นกรดจะทำให้โปรตีนในนม ตกตะกอนออกมาเป็นก้อน ทำให้นมเป็นกรดเยอะ และบูดในที่สุด และหากกินนมหมดอายุเข้าไป ในบางรายหากนมเพิ่งหมดอายุอาจจะไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น หรือบางรายอาจเกิดอาการดังต่อไปนี้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย เวียนหัว หรืออาจติดเชื้อในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้

วิธีสังเกตนม ก่อนเผลอกินนมหมดอายุ

  1. ก่อนอื่นต้องดูสภาพภายนอกของกล่องว่ามีร่องรอยบุบ รอยกดทับจนบวมหรือไม่ หากมีให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นนมบูด
  2. เทนมใส่แก้ว หากพบว่านมมีลักษณะเป็นก้อน ข้น เหนียว มีฟอง สีคล้ำ มีกลิ่นเปรี้ยว หรือมีรสชาติเปลี่ยนไป นั่นคือนมบูด

ทั้งนี้นมแต่ละชนิด คือนมที่ได้จากกระบวนการเก็บรักษานมสดให้มีอายุนานขึ้นด้วยวิธีต่าง ๆ เรามาดูกันต่อว่านมแต่ละชนิดมีอายุและการเก็บรักษาอย่างไร เพื่อเราจะได้ไม่เผลอกินนมหมดอายุกันค่ะ

วิธีดูวันหมดอายุนมและการเก็บรักษาของนมแต่ละชนิด

นมสด หรือ น้ำนมดิบที่รีดออกมาสดใหม่จากแม่วัวนั้น จะสามารถเก็บรักษาได้เพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เพราะในน้ำนมดิบจะมีจุลินทรีย์ทำให้น้ำนมดิบเสียเร็ว เพราะฉะนั้นน้ำนมดิบต้องนำไปผ่านกระบวนการเพื่อเก็บรักษาน้ำนมสดให้อยู่ได้นาน โดยจึงเกิดนมแต่ละชนิดที่เราเห็นกันในท้องตลาด และนมแต่ละชนิดนี้มีระยะนมหมดอายุที่แตกต่างกัน ดังนี้

นมพาสเจอร์ไรส์ (Pasteurized Milk)

นมพาสเจอร์ไรส์ เป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำนมที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย แต่น้ำนมยังคงมีรสชาติอร่อย และมีคุณค่าใกล้เคียงน้ำนมสด ดังนั้นเมื่อซื้อนมพาสเจอร์ไรส์มาแล้ว จึงต้องแช่เย็นที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาตลอดเวลา เก็บได้นาน 10 วันเท่านั้น หากต้องการเก็บแบ่งไว้ดื่ม จะต้องเทใส่แก้วแบ่งกินไม่ยกดื่มจากขวด เพราะจะทำให้นมบูดง่าย

นมสเตอริไลส์ (Sterilized Milk)

นมสเตอริไลส์ หรือ นมกระป๋อง เป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื่อด้วยความร้อนสูงกว่านมพาสเจอร์ไรส์ ทำให้จุลินทรีย์ทั้งชนิดที่ส่งผลเสียต่อร่างกายและทำให้อาหารเน่าเสียถูกทำลายจนหมด นอกจากนี้ยังทำให้สูญเสียสารอาหาร วิตามินบางชนิดไป อาจจะไม่เหมาะสำหรับเด็กในวัยกำลังโตมากนัก ทั้งนี้นมสเตอริไลส์ที่ยังไม่เปิดกิน สามารถเก็บไว้โดยไม่ต้องแช่เย็นได้ถึง 1 ปี

นมยูเอชที (UHT, Ultra High Temperature Milk)

นมยูเอชที หรือ นมกล่อง เป็นนมที่ผ่านกระบวนการฆ่าเชื่อด้วยความร้อนสูงที่สุดในระยะเวลาอันสั้นมาก ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ออกไปได้เกือบทั้งหมด จึงทำให้นมยูเอชทีสามารถเก็บรักษาได้นานประมาณ 6 เดือน โดยเก็บไว้ที่อุณหภูมิปกติไม่ควรให้โดนแดดโดยตรง

นมเปรี้ยว (Fermented Milk)

นมเปรี้ยว เป็นนมที่มีรสชาติต่างจากนมประเภทอื่น เนื่องจากมีการเติมแบคทีเรียที่ช่วยให้กระเพาะอาหาร และลำไส้ทำงานได้เป็นปกติ จากนั้นก็ได้มีการนำไปหมักต่อเพื่อเพิ่มเชื้อจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ จึงทำให้น้ำตาลในนมสดเปลี่ยนเป็นกรด และมีรสชาติเปรี้ยว เหมาะสำหรับคนที่มีปัญหาการย่อยน้ำตาลในนม ทั้งนี้นมเปรี้ยวควรเก็บในตู้เย็นและเก็บได้นานกว่านมประเภทอื่น ส่วนนมเปรี้ยวพร้อมดื่มพาสเจอร์ไรส์ หากแช่ตู้เย็นสามารถเก็บได้นานถึง 21 วัน 

นมผง (Powder Milk)

นมผง คือ การนำนมสดมาระเหยน้ำออกไปจนหมด แต่สูญเสียวิตามินไปน้อยมาก นมผงจึงมีประโยชน์ไม่ต่างจากนมสดเลย ทั้งนี้นมผง หากเก็บในซองปิดสนิทไม่เจอความชื้น เก็บได้นานถึง 1 ½ ปี แต่หากมีการแบ่งใส่ภาชนะต่าง ๆ จะอยู่ได้นาน 3 เดือน และหากชงกินแล้วจะต้องกินภายใน 1 ชั่วโมง หรือหากต้องแช่เย็นเก็บได้ไม่เกิน 1 วัน

วันหมดอายุ กับ วันที่ควรบริโภคก่อน ต่างกันอย่างไร?

วันหมดอายุ หรือ EXP/ EXD ย่อมาจาก Expiry Date /Expiration Date

วันที่อาหารหมดอายุ เพราะหากหลังจากวัน EXP/ EXD เป็นต้นไป อาหารจะเริ่มบูดหรือเน่าเสีย และไม่ปลอดภัยในการบริโภค ฉะนั้น จึงไม่ควรรับประทานอาหารนั้นหลังจากวันที่กำหนดบนฉลากว่าหมดอายุแล้ว

ควรบริโภคก่อน “Best before…” หรือ “Best before end…” (BB/BBE)

วันที่บ่งบอกว่าอาหารนั้นยังคงมีคุณภาพและมีรสชาติที่ดีเหมือนเดิมจนถึงวันที่ระบุไว้ เพราะหากหลังจากวัน BB/BBE ไปแล้ว อาหารยังพอกินได้ แต่รสชาติ คุณภาพ ความสดใหม่ และสารอาหารของอาหารจะลดลง หากเลยมานานมากมีโอกาสเสียได้

นมหมดอายุ เอาไปทำอะไรได้บ้าง

หากพบว่านมที่บ้านหมดอายุไปเสียแล้ว จะทิ้งนมหมดเอายุไปเลยก็เสียดาย เรามาดูกันว่านมหมดอายุไปแล้ว ยังสามารถทำประโยชน์อะไรได้อีกบ้างค่ะ

ประกอบอาหาร หรือวัตถุดิบทำเบเกอรี่

นมหมดอายุจะเกิดแบคทีเรียในนม แล้วทำไมยังสามารถนำมาเป็นส่วนประกอบในการทำขนมปัง ขนมอบ หรือพวกเบเกอรี่ต่าง ๆ ได้ เพราะว่าขนมประเภทนี้ต้องใช้ความร้อนสูงในการทำขนมมากกว่าร้อยองศาเซลเซียส ซึ่งแบคทีเรียเหล่านี้ไม่สามารถทนความร้อนสูงขนาดนี้ได้นั่นเอง โดยนมหมดอายุนั้นสามารถนำมาใช้ประโยชน์ดังนี้

  1. เปลี่ยนนมบูดให้เป็นนมปกติ เช่น บัตเตอร์มิลค์ โยเกิร์ต หรือครีมรสเปรี้ยว
  2. ส่วนประกอบในสูตรขนมจำพวก บิสกิต แพนเค้ก สโคน และขนมปังข้าวโพด
  3. ส่วนประกอบของอาหารจำพวกซุปและสตู เติมนมบูดลงซุปและสตู ช่วยเพิ่มรสชาติและความเข้มข้นในอาหาร
  4. ทำสลัดครีม ชีส หรือ บลูชีส
  5. ส่วนประกอบในการทำชีส นมบูดสามารใช้ในการทำอาหารโฮมเมดหรืออาหารประเภทชีสได้
  6. ช่วยเพิ่มความนุ่ม การใช้นมหมดอายุในการหมักเนื้อหรือปลาจะช่วยเพิ่มความนุ่มของเนื้อสัตว์ได้

ฮอร์โมนนมสด

ฮอร์โมนนมสดในที่นี้ คือฮอร์โมนสำหรับบำรุงพืชผักให้เจริญเติบโต แข็งแรง เร่งดอกออกผลได้ดีมาก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบปลูกต้นไม้ ดอกไม้หรือพืชผักเป็นอย่างมาก โดยเตรียมส่วนผสมดังนี้

  1. นมจืด หรือ นมหมดอายุ 1 กล่อง
  2. น้ำตาลทรายแดง 1 ช้อนโต๊ะ
  3. ขวดเปล่า 1 ใบ

วิธีทำฮอร์โมนนมสด

  1. เทนมลงใส่ขวดที่เตรียมไว้
  2. เติมน้ำตาลทรายแดงอย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ
  3. เขย่าให้เข้ากัน ตั้งทิ้งไว้ 3 วันแล้วนำไปใช้

แม้ว่าการกินนมหมดอายุไปวันสองวันสำหรับบางคนแล้ว จะไม่มีผลข้างเคียงกับร่างกายมากนัก แต่สำหรับบางคนแล้วอาจถึงขั้นคลื่นไส้อาเจียน ท้องเสียหรือลำไส้อักเสบได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะกินหรือดื่มอะไร ควรดูวันหมดอายุก่อน จะได้ไม่เผลอกินนมหมดอายุและอาจเกิดผลกระทบที่ตามมากับร่างกายได้ค่ะ